วันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2553

Vespa Club








มันเปลี่ยนมือ…ผมได้รับคำตอบจาก “เป๊บซี่” เจ้าของ “แฮนด์แป๊บ A.C.M.A.” หลังเจอกันในงานทัวร์ครั้งก่อน…แต่…ภายใต้เจ้าของใหม่ เรายังคงได้รับความอนุเคราะห์เข้าพูดคุยพอเป็นวิทยาทาน หลังสานสัมพันธ์ผ่านเพื่อนเจ้าถิ่นที่การันตีสมทบ “พี่วิน” เจ้าของโปรดักต์แพร่ลัทธิคันนี้ก็ยินยอมตามนั้น ภาพระบบดิจิตอลจึงถูกเก็บลงหน่วยความจำขนาด 256 MB ก่อนหันกลับมาเปิดเว็บอัพเดตข้อมูลกันจน…ตาลาย!!!
หลังเปิดตัวด้วยรถอเนกประสงค์หน้าตาแปลกประหลาดครั้งแรกในปี 1946 และลองผิดลองถูกอยู่สักพัก ก่อนเริ่มจะจับทางได้ด้วย เครื่องยนต์แบบ Single ขนาด 98 ซี.ซี. สูบนอน 2 จังหวะ เปลี่ยนเกียร์ที่มือ ระบายความร้อนด้วยพัดลม…1948 Piaggio เริ่มประสบความสำเร็จ และมองตลาดนอกบ้านเกิด เครื่องยนต์เดิมถูกอัพเกรดเป็น 125 ซี.ซี. ซึ่งการรุกตลาดนอกประเทศนั้น Piaggio ได้สานสัมพันธ์กับกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ในหลายซีกโลก ชื่อ Vespa จึงถูกผลิตภายใต้ข้อสัญญาอย่างเป็นทางการ ซึ่งยังรวมถึง “แบนเนอร์” ที่ใช้เบิกทางในแต่ละภูมิภาคอีกด้วย…Vespa ขายในอเมริกาในชื่อ ALLSTATE…ขายในอังกฤษในชื่อของ DOUGLAS…ขายในเยอรมนีในชื่อ MESSERSCHMITT และในฝรั่งเศสชื่อของ A.C.M.A. รับอานิสงส์ผลิตภายใต้ข้อตกลงตั้งแต่ปี 1951-1962




A.C.M.A.…รับข้อเสนอจาก Piaggio เพื่อผลิตรถสกู๊ตเตอร์โดยหวังเจาะตลาดในปารีส ซึ่งมีที่ตั้งโรงงานอยู่ที่ Fourchmbault ใกล้ๆ กับเมือง Dijon ใน Paris…รถสกู๊ตเตอร์โปรดักต์จากอิตาลีถูกนำมาปรับเปลี่ยนชิ้นส่วนอีกเล็กน้อยหวังให้ตรงใจแฟนเมือง “น้ำหอม” ที่รักและหลงใหลรถที่มีการออกแบบเหมือนงานศิลปะ โดยเฉพาะในส่วนของไฟหน้าที่ถูกย้ายขึ้นมาติดตั้งบนแฮนเดิ้ลบาร์ ส่วนไฟท้ายแบบเหลี่ยมเล็กเรียบๆ ถูกแทนที่ โลโก้ตัว “P” ที่ติดตั้งบนบังลมนั้นใช้ตัวอักษร “A.C.M.A. Paris” แทนอักษร “Genova” แบบดั้งเดิม สำหรับโมเดลแรกเริ่ม 1951-1952 นั้นยังคงเครื่องยนต์พอร์ตเดียวขนาด 123.67 ซี.ซี. ที่ปรับสมรรถนะภายในอีกเล็กน้อย โดยบอดี้ภายนอกนั้นโดดเด่นสะดุดตาตรงฝากระโปรงครอบเครื่องยนต์ ที่ถูกหันเว้าตรงบริเวณเหนือพัดลมระบายความร้อน และสามารถยกมันขึ้นสำหรับการเซอร์วิสได้อย่างง่ายดาย…สีบรอนซ์เงิน (Silver) ถูกผลิตสำหรับโมเดลปี 1951 ส่วน เขียวเมทาลิค (Dark Metallic Green) ถูกเลือกใช้สำหรับโมเดลปี 1952 แต่ยังคงขนาดของล้อเหล็ก หน้า/ หลัง ขนาด 8 นิ้ว สำหรับโมเดลปี 1951-1952 นั้นตรงตำแหน่งเหนือกะโหลกไฟมีเฉพาะแผ่นปิดรูปสี่เหลี่ยมฝังโลโก้ Vespa ปิดทับตรงตำแหน่งเรือนไมล์ จุดแตกต่างปี 1953 ที่เริ่มฝังเรือนไมล์ทรงสี่เหลี่ยมแทนตำแหน่งที่ออกแบบเอาไว้ล่วงหน้า และเพราะเป็นรถที่ ซี.ซี. ต่ำและเน้นใช้งานที่ไม่สมบุกสมบัน อัตราส่วนของกำลังอัดเครื่องยนต์จึงอยู่ที่ 6.3:1 ซึ่งได้พลังงานเพียง 4 แรงม้า ที่ 4,500 รอบ/ นาที ที่ส่งกำลังขับเคลื่อนด้วยชุดเกียร์ 3 สปีด ผ่านเฟืองขนาด 22/69 ฟัน และใช้คาร์บูเรเตอร์ตัวจิ๋วขนาด 17 มม. จากแบรนด์ Guertner ที่ถือเป็นรุ่นสุดท้าย ก่อนในปี 1953 จะปรับเปลี่ยนหลังได้พันธมิตรใหม่นาม Dell”Orto และขยายมันให้โตอีกเล็กน้อยเป็น 18 มม.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น